วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

ครีมกันแดด…ที่มีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ปลอดภัย?!?

ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ปลอดภัย?!?
ครีมกันแดดส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์(TiO2) โดยใช้ประโยชน์จากไททาเนียมไดออกไซด์ในการสะท้อน UVA และ UVB คุณลองนึกภาพดูนะครับ มันเหมือนกับเราเอากระจกเงาวางไว้รอบๆใบหน้าโดยหันด้านที่เป็นกระจกออกไปด้านนอก แสงที่มากระทบก็จะสะท้อนออกไปโดยมีเราหลบอยู่ด้านหลังกระจก โดยหลักการแล้วมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่จะสามารถป้องกันรังสีต่างๆได้ แต่คำถามย่อมเกิดขึ้นได้แน่กับคนที่คิดมาก และก็ควรจะคิดซะด้วยสิ  เพราะในการทาครีมกันแดดนั้นมันต้องโบ๊ะลงไปบนผิวหน้าของคุณซึ่งถ้ามันเป็นอันตรายกับผิวหน้าคุณ มันก็ไม่มีผิวหน้าสำรองซะด้วยสิ ดังนั้นสิ่งที่น่าระแวงสงสัยจึงถูกแบ่งเป็น 2 ประเด็นก็คือ ประเด็นแรกมันปลอดภัยจริงหรือไม่มั่นใจได้อย่างไรว่าปลอดภัยจริง? และประเด็นที่สอง ถ้าประเด็นแรกมั่นใจได้ว่าปลอดภัยแล้วมันจะสามารถสะท้อน UVA และ UVB ได้ทั้งหมดหรือไม่ นั่นคือเราจะใช้ในปริมาณที่มากน้อยเพียงใดจึงจะป้องกันได้ดีที่สุด เราจะมาหาคำตอบกันทั้งสองประเด็นนี้ครับ ซึ่งเมื่อคุณเข้าใจในสองประเด็นนี้แล้วก็จะทำให้คุณมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว

ประเด็นแรก ไททาเนียมไดออกไซด์ปลอดภัยกับผิวคุณหรือไม่? ในการใช้ครีมกันแดดที่ผสมไททาเนียมไดออกไซด์นั้นก็เพราะสมบัติในการสะท้อน UV จากรายงานการวิจัยทั้งในและต่างประเทศยังไม่พบรายงานอันตรายจากการใช้ไททาเนียมไดออกไซด์เป็นส่วนผสมของครีมกันแดด ตรงกันข้ามกลับได้รับการยอมรับกันในวงกว้างว่ามีความปลอดภัยสูงอย่างที่สวิตเซอร์แลนด์ยอมรับเฉพาะไททาเนียมไดออกไซด์เท่านั้นทั้งๆที่มีซิงค์ออกไซด์อีกตัวหนึ่ง แต่การรับฟังข้อมูลเหล่านี้ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าถูกต้องครับ มาวิเคราะห์กันก่อน ในด้านของความปลอดภัยนั้นก็จะสามารถจำแนกได้เป็น2เงื่อนไขเช่นกันคือ 1.เมื่อใช้กับผิวแล้วจะทำให้เกิดอาการแพ้หรือไม่ ในข้อมูลเรื่องนี้จากการศึกษางานวิจัยจากหลายๆที่ได้คำตอบว่า ไททาเนียมไดออกไซด์นั้นเป็นสารเฉื่อยมีความเสถียรสูงหมายความว่าจะไม่ค่อยทำปฏิกิริยากับสารชนิดอื่น อย่างเช่นเหงื่อที่ไหลออกมาจากรูขุมขนบริเวณผิวหน้าเราแม้มีส่วนประกอบอื่นๆออกมาด้วยก็จะไม่ทำปฏิกิริยากับไททาเนียมไดออกไซด์ ไททาเนียมไดออกไซด์สามารถยึดเกาะพื้นผิวต่างๆได้ดี และสามารถล้างออกได้ง่ายแต่ไม่ละลายในน้ำจึงไม่เกิดการสะสมในน้ำทิ้งครับ แต่ถึงอย่างไรเมื่อคุณใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมไททาเนียมไดออกไซด์ก็ควรจะล้างออกเพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ซึ่งไม่ใช่ผลกระทบจากสารตัวนี้นะครับ ดังนั้นในเรื่องการเกิดสารพิษต่างๆจากการเกิดปฏิกิริยาเคมีของสารตัวนี้ก็ตกไป มีรายงานการวิจัยของวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้กล่าวไว้ว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดจะใช้สมบัติของวัสดุในเรื่องการดูดกลืนรังสีและการสะท้อนรังสี แต่การสะท้อนรังสีปลอดภัยกว่าซึ่งมีสาร 2 ตัวครับคือ ไททาเนียมไดออกไซด์กับซิงค์ออกไซด์ ที่น่าสนใจอีกอย่างที่ทางวิทยาลัยได้กล่าวไว้ก็คือ ไททาเนียมไดออกไซด์ในระดับไมโครเมตร( 1 ใน ล้านเมตร) นั้นสามารถสะท้อนรังสีต่างๆได้ดี แต่เมื่อทาลงไปบนผิวจะเห็นเป็นสีขาวบางๆซึ่งทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ ในภายหลังจึงได้ทำไททาเนียมไดออกไซด์ในระดับนาโนเมตร( 1 ในพันล้านเมตร ) ออกมา ซึ่งจะมีความโปร่งใสมากว่าแต่ยังสามารถที่จะสะท้อนรังสี UV ได้เช่นเดิมแต่จะมีสมบัติของการดูดซับรังสีเพิ่มเข้ามาด้วยและระดับที่เล็กมากนี้สามารถที่จะแทรกซึมเข้าไปทางรูขุมขน อนุภาคไททาเนียมไดออกไซด์มีขนาดโมเลกุลเฉลี่ย 20 นาโนเมตร ซึ่งเล็กว่า 40 นาโนเมตร สามารถแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ จึงยังคงเป็นข้อกังขากันอยู่ว่าถ้ามันแทรกเข้าไปในชั้นผิวหนังได้แล้วเกิดการดูดซับรังสีจะเกิดผลใดบ้าง แต่ก็ยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบในเรื่องนี้เลย ทุกประเทศยังคงยอมรับการใช้สารตัวนี้เช่นเดิม

ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของความสามารถในการสะท้อนรังสีว่าเราควรใช้ครีมกันแดดทาหนาแค่ไหนจึงจะป้องกันรังสีได้ดีที่สุด คุณต้องเข้าใจก่อนครับว่าแสงจากดวงอาทิตย์ไม่ได้มีแต่ UV ครับแต่ยังมี แสง และ อินฟาเรด(IR) อีกด้วย ซึ่งอินฟาเรดถือเป็นรังสีความร้อนคือให้พลังงานในรูปความร้อนเสียเป็นส่วนใหญ่มีความยาวคลื่นประมาณ 800 นาโนเมตร แสงเป็นรังสีในย่านที่เรามองเห็นได้มีความยาวคลื่นเฉลี่ย 514 นาโนเมตร และUV มีความยาวคลื่นเฉลี่ย 310 นาโนเมตรดังนั้นครีมกันแดดที่ดีควรป้องกันทั้ง 3 รังสีนี้ครับโดยจะพิจารณาที่ UV เป็นหลักเพราะมีพลังงานสูงสุด(ความยาวคลื่นน้อยหมายความว่ามีพลังงานมาก)  มีการวิจัยชื่อว่า Influence of titanium dioxide nanoparticles on skin surface temperature at sunlight irradiation ได้วิจัยและอธิบายเกี่ยวกับการใช้ไททาเนียมไดออกไซด์ในรูป nanoparticle ซึ่งให้ผลทั้งการสะท้อนและการดูดกลืนรังสีไว้อย่างน่าสนใจครับ เค้าเปรียบเทียบให้เห็นว่าไม่ได้ใช้สารที่มีส่วนประกอบของไททาเนียมไดออกไซด์นี้ ผิวเราจะมีการดูดกลืนรังสีทั้ง3ชนิดรวมกันที่เกือบๆ 7 จูลต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ตัวเลขนี้หมายความว่าถ้าเราตัดผิวเราออกเป็นลูกเต๋าขนาด1เซนติเมตร จะดูดกลืนรังสีไว้ 7 จูล และเมื่อแยกออกมาวิเคราะห์แต่ละรังสีพบว่าเมื่อลึกเข้าไปใต้ผิวหนัง แสงมีการดูดกลืนเพิ่มขึ้นแต่UV ดูดกลืนน้อยลง ต่างกับอินฟาเรดที่ในระยะที่ลึกเข้าไป 15 ไมโครเมตรไม่มีการดูดกลืนเลยแต่ลึกเข้าไปมีการดูดกลืนเพิ่มขึ้นเป็น 3 จูลต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อทา 1%ไททาเนียมไดออกไซด์หนา 2 ไมโครเมตรและ 5%ไททาเนียมไดออกไซด์อีก 1 ไมโครเมตร จะลดการดูดกลืนรังสี UV ได้ 5% ลดการดูดกลืนแสงได้ 50% และลดการดูดกลืนอินฟาเรดได้ 45% โดย UV นั้นแทบจะไม่มีการดูดกลืนเลยหลังผ่านชั้นไททาเนียมไดออกไซด์เข้ามา แสงที่กระทบผิวหนังถ้าคิดเป็น 100% UV มีการดูดกลืนเกือบ 0% (อินฟาเรดก็เกือบ 0%) หมายความว่าแทบทั้งหมดเกิดการสะท้อนครับ


แสดงให้เห็นว่าในขณะนี้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ยังไม่มีรายงานถึงอันตรายใดๆ และยังได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นสารที่ปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิต แต่มีอันตรายกับระบบทางเดินหายใจในระยะยาวอยู่ดังนั้นจึงควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของครีมจะดีกว่า ในการทาครีมพบว่าเพียงใช้เนื้อครีมหนาแค่ 3 ไมโครเมตร(ทาจริงหนากว่านี้แน่นอน) จะสามารถสะท้อนรังสี UV  และ IR ได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นไม่มีความจำเป็นจะต้องทาครีมให้หนาเกินไป คำตอบสำหรับ 2 ประเด็นนี้คงทำให้คุณมั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไททาเนียมไดออกไซด์ได้มากขึ้นนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น